ช่วงตรุษจีนในแต่ละปี “สีแดง” จะกลายเป็นสีที่ถูกพูดถึง และเข้ามาสะดุดตาสะดุดหูอยู่บ่อยๆ คุณพ่อคุณแม่ หรือขึ้นไปถึงรุ่นอากง อาม่าที่มีเชื้อสายจีนทั้งหลาย มักบอกให้ลูกหลานใส่เสื้อผ้าใหม่ โดยเฉพาะถ้าให้ดีควรใส่เสื้อผ้าสีแดง จนถึงกับในบางย่านที่เป็นแหล่งคนจีน พอถึงวันตรุษจีนทีก็แทบจะตาลายด้วยคลื่นมนุษย์สีแดงเกลื่อนไปทั้งซอย ซึ่งแน่นอนว่า ในช่วงนี้ของแต่ละปี เสื้อผ้าสีแดงก็จะได้รับอานิสงส์ขายดิบขายดีไปด้วย หรืออย่างที่บอกว่าจะถูกจะแพงต้อง “แดง” ไว้ก่อน
ไม่เพียงแต่เสื้อผ้า ทว่าของใช้และของประดับอื่นๆในช่วงเวลาขึ้นปีใหม่จีน ก็ยังนิยมใช้สีแดงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเชือกถักที่ใช้ประดับบ้าน กระดาษเขียนอักษรมงคล เทียน ซองอั่งเปา แม้แต่ของเซ่นไหว้ก็ยังมีการเอากระดาษสีแดงมาแปะเอาไว้ เพราะชาวจีนส่วนใหญ่จะเชื่ออยู่ในสายเลือดว่าสีแดงเป็นสีแห่งมงคล หรืออย่างที่ได้ยินผู้ใหญ่บอกเล่าเก้าสิบกันว่า ใส่สีแดง ใช้สีแดงแล้วจะเฮงๆๆ…
ทำไมต้องเป็นสีแดง?
สำหรับชาวจีนซึ่งตามสภาพภูมิประเทศของประเทศส่วนใหญ่อยู่ในอากาศที่หนาวหรือเย็นมากกว่าร้อน ดังนั้นคนจีนจึงชอบวันที่ฟ้าโปร่ง มีแสงแดด ถ้าพูดถึงสีที่เป็นตัวแทนของแสงแดด ความอบอุ่นก็ต้องเป็น “สีแดง”
นอกจากนั้นในเบญจธาตุของจีนที่ประกอบด้วย ธาตุทอง ธาตุไม้ ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และธาตุดิน สีแดงก็ยังเป็นสัญลักษณ์ของธาตุไฟ และธาตุไฟในแผนภูมิโป้ยก่วย (八卦) ของจีน ยังหมายถึงแสงสว่าง ความอบอุ่น พละกำลัง และความรุ่งโรจน์อีกด้วย
“สีแดง” จึงกลายเป็นสีที่เปรียบเสมือนจิตวิญญาณของชาวจีน และอยู่ร่วมกับวัฒนธรรมประเพณีต่างๆของชาวจีนมาโดยตลอด อีกทั้งมีการขยายความออกไปต่างๆนานาอาทิ สีแดงหมายถึงความรัก น้ำใจ ความเป็นสิริมงคล อำนาจบารมี ความกล้าหาญ ฯลฯ
สีแดงใช้กับอะไรบ้าง?
สิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมก็คือ สีก็เป็นเสมือน “ภาษา” ที่ใช้สื่อสารชนิดหนึ่ง ดังนั้นการที่จะใช้สีอะไรกับเรื่องราวใดย่อมต้องมีเหตุผลหรือที่มาของสีนั้นๆ เสมือนเป็นการสื่อความหมายระหว่างผู้ส่งกับผู้รับสาร
อย่างที่รู้กันดีว่าคนจีนใช้สีแดงมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ การใช้สีแดงจึงถูกใช้ไปตามความหมายที่ต้องการจะสื่อ เช่นฮ่องเต้จีนสมัยก่อนที่ใช้หมึกประทับตราลัญจกรเป็นสีแดง เพราะเห็นว่าเป็นสีที่แสดงถึงความเชื่อมั่นและพลังอำนาจ ยิ่งหลังช่วงศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ที่ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของเลือดรักชาติ การปฏิวัติ สีแดงจึงถูกใช้เป็นสีของธงทหาร สีธงชาติ ธงพรรค หรือหน่วยพิทักษ์แดง (เรดการ์ด)
สำหรับในเทศกาลตรุษจีน กระดาษที่ใช้ติดหน้าบ้าน โคม ประทัด ตลอดจนซองอั่งเปาที่ให้กับเด็กๆล้วนเป็นสีแดง นั่นก็เพราะว่าสีแดงเป็น “สีแห่งไฟ” “สีแห่งแสงสว่าง” จึงเชื่อว่าเป็นสีที่มีพลังอำนาจในการขับไล่สิ่งอัปมงคล ภูตผีปีศาจทั้งหลาย ดังนั้นบ้านที่ติดสีแดง คนที่สวมชุดแดงหรือเด็กที่พกซองแดง จึงสามารถอยู่รอดปลอดภัยมีชีวิตที่สงบสุข
ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ สีแดงจึงกลายมาเป็นสีที่มีนัยยะแห่งความศักดิ์สิทธิ์อีกหนึ่งความหมาย จะเห็นได้จากวัดวาอาราม พระราชวัง พระตำหนักหรือสิ่งปลูกสร้างสมัยก่อนของจีน ทั้งเสาเรือน หลังคา ส่วนประกอบต่างๆมักเป็นสีแดง
นอกจากนั้นสีแดงยังถูกใช้ในพิธีต่างๆเพื่อเป็นสิริมงคล เช่นในการเปิดกิจการใหม่ จะตกแต่งด้วยกระดาษแดง โบว์แดง ริบบิ้นแดง ผ้าคลุมป้ายแดง ผ้าปูโต๊ะแดง ถ้าเป็นสมัยก่อนผู้คนที่ไปร่วมงานมักสวมชุดแดงด้วย หรือในความหมายมงคลควบคู่กับความรักอย่างในพิธีแต่งงานที่จะเห็นชัด เพราะจะเห็นสีแดงละลานตาไปหมดไม่ว่าจะเป็นชุดของเจ้าบ่าวเจ้าสาว ตัวอักษรที่ใช้ประดับในงาน หมวก ดอกไม้ รวมไปถึงเกี้ยวเจ้าสาว ขนาดกระดาษห่อของขวัญก็ยังใช้สีแดง
ชาวจีนติดกระดาษสีแดงบนก้อนเต้าหู้สำหรับฉลองวันปีใหม่ตามประเพณีจีน ในหมู่บ้านฉาจี้ เมืองเซวียนเฉิง มณฑลอันฮุย ภาพวันที่ 6 ก.พ. 2021 (แฟ้มภาพซินหัว)
ไม่เว้นแม้แต่ในตลาดหุ้นของจีน สีแดงก็ยังเข้ามามีบทบาทอยู่ด้วยเช่นกัน กระดานหุ้นทางฟากตะวันตก หรือในหลายๆประเทศเวลากลายเป็นสีแดงหมายถึงหุ้นกำลังร่วง ขณะที่สำหรับจีน ไต้หวัน ฮ่องกง หากกระดานหุ้นขึ้นสีแดงกลับหมายถึงหุ้นกำลังขึ้น ดังนั้นจึงมีคำว่าเปิดกระดานแดง (开红盘) ที่หมายถึงหุ้นดีดตัวสูงขึ้นตั้งแต่เปิดตลาด
ยังมีอีกหลายอย่างที่มีการประยุกต์สีแดงไปใช้สื่อความหมาย ซึ่งก็คงไม่สามารถสาธยายกันได้หมดสิ้น เพราะสำหรับจีน สีแดงแทบจะกลายเป็นสีแห่งวัฒนธรรม หรือที่เรียกกันว่าวัฒนธรรมแดง (红文化) ไปแล้ว เพราะได้หล่อหลอมกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับรูปแบบการดำรงชีวิตหลากหลายแบบ รวมไปถึงภาษาที่ใช้เช่น คำว่า 红人 อ่านว่า “หงเหริน” ที่ถ้าถอดตามตัวอักษรแปลว่าคนแดง แต่ถูกนำมาใช้ในความหมายของ “คนดัง” หรือ “คนที่ได้รับความชื่นชอบ” หรือคำว่า 红运 อ่านว่า “หงอวิ้น” ที่แปลตรงตัวอักษรว่าดวงแดงนั้นก็ถูกนำมาใช้ในความหมายว่า “ดวงดี” คำว่า 红榜 อ่านว่า “หงปั่ง” ที่แปลว่ากระดานแดงหรือบอร์ดแดง ถูกนำมาใช้ในความหมายของ “รายชื่อเกียรติยศ” เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสำหรับชาวจีน สีแดงส่วนใหญ่จะถูกใช้ไปในด้านที่ดีและเป็นมงคล แต่ก็ไม่ใช่ใช้กันพร่ำเพรื่อได้ทุกโอกาส เช่น ชุดแดง หมวกแดง รองเท้าแดง จะถูกห้ามใช้ในการสวมใส่ไปร่วมงานอวมงคล นอกจากนั้นในสมัยโบราณฮ่องเต้จะสวมชุดมังกรสีเหลือง ส่วนชาวบ้านทั่วไปใส่ชุดสีเทา สีดำ หรือน้ำเงิน ซึ่งหากเคยสังเกตสักนิดจะเห็นว่ารุ่นอากง อาม่าของเราปกติแทบจะไม่ใส่ชุดแดงให้เห็นสักเท่าไหร่ จะเก็บไว้เฉพาะในงานเฉลิมฉลอง งานแต่งงาน หรืองานมงคลพิเศษๆเท่านั้น