ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่มีต้นกำเนิดมาจากการแพร่เชื้อจากสัตว์สู่มนุษย์ในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เรียกอย่างเป็นทางการว่า ‘Covid-19’ ซึ่งมีระยะฟักตัว 2-10 วัน** และติดต่อระหว่างมนุษย์สู่มนุษย์ผ่านทางของเหลวจากทางเดินหายใจ เช่น การไอ จาม หรือปนเปื้อนจากการสัมผัสบนนิ้วมือ เข้าสู่ร่างกายผู้รับได้ทั้งทางปาก จมูก และเยื่อบุตา
โรคนี้ก่อให้เกิดอาการปอดอักเสบรุนแรง แม้มีอัตราการเสียชีวิตไม่เกิน 3% จากผลวิจัยล่าสุดเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2020 แต่โรคนี้กลับมีอัตราการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว แม้มีคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญกำหนดเป็นข้อปฏิบัติต่างๆ แก่ประชาชนเพื่อป้องกันตัวเอง ทำให้เวลานี้จำนวนผู้เสียชีวิตจาก Covid-19 มีจำนวนมากกว่าผู้เสียชีวิตจาก SARS ในปี 2003 และ MERS ในปี 2012 แล้ว
หลังจากการเปิดเผยจีโนมของไวรัสจากทางประเทศจีนเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา เหล่านักวิทยาศาสตร์จากประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างพากันเร่งมือคิดค้นยาต้านไวรัสและวัคซีนอย่างเต็มความสามารถเพื่อให้ทันต่อการระบาดของโรคนี้ นักวิทยาศาสตร์ในส่วนอื่นก็ช่วยกันในด้านการวิจัยเพื่อให้ได้ข้อมูลของไวรัสนี้ให้มากที่สุด เพื่อลดอัตราความเร็วในการระบาดของโรคร้ายนี้ลงให้ได้
ทีมงานจาก University Medicine Greifswald ในประเทศเยอรมนี นำโดย ศ.กุนเทอร์ คัมป์ฟ ได้ทำการทดลองเพื่อหาคำตอบว่าไวรัสโคโรนานั้นจะสามารถมีชีวิตอยู่บนวัตถุสิ่งของต่างๆ เป็นเวลานานเท่าใด ซึ่งในการทดลองนี้ได้นำไวรัสตัวเดิมในตระกูลโคโรนาคือ SARS-CoV และ MERS-CoV มาทดสอบร่วมกับไวรัสอื่นๆ เช่น ไวรัสกระเพาะและลำไส้อักเสบ TGEV, ไวรัสตับอักเสบในหนู MHV, และไวรัสอื่นบางสายพันธุ์ที่ติดต่อกันในสัตว์ เช่น CCV
ผลการทดลองพบว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ต่างๆ สามารถมีชีวิตอยู่บนพื้นผิวสิ่งของต่างๆ เช่น โลหะ ไม้ กระดาษ แก้ว พลาสติก ได้นานมากที่สุดถึง 9 วัน โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4-5 วัน ตัวแปรอยู่ที่อุณหภูมิและความชื้น
หากวัตถุนั้นๆ (ซึ่งมักเป็นส่วนประกอบของสิ่งของต่างๆ ในห้องผู้ป่วย) อยู่ในอุณหภูมิที่ค่อนข้างเย็นและชื้น ไวรัสก็จะมีชีวิตยืนยาวขึ้น และตราบใดที่มันยังมีชีวิตอยู่ในจำนวนที่มากพอควร ไวรัสนี้ก็ยังมีความสามารถในการแพร่เชื้อเช่นเดิมเมื่อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์
นอกจากการทดลองหาอายุของไวรัสบนวัตถุสิ่งของแล้ว ทางทีมงานยังได้ทำการทดลองเพื่อหาหนทางกำจัดไวรัสโคโรนาที่ปนเปื้อนบนสิ่งต่างๆ อีกด้วย และพบว่าไวรัสนี้จะตายภายใน 1 นาทีเมื่อสัมผัสเอทานอล 62-71%, ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 0.5% หรือโซเดียมไฮโปคลอไรต์ 0.1%
ศ.กุนเทอร์ คัมป์ฟ อธิบายว่าเมื่อเราทำความสะอาดพื้นผิววัตถุต่างๆ ด้วยสารฆ่าเชื้อทั้ง 3 ชนิดที่กล่าวมาข้างต้นในระดับความเข้มที่กำหนดไว้ ไวรัสโคโรนาจะลดจำนวนจากล้านหน่วยเหลือเพียงร้อยหน่วยภายในเวลาไม่ถึงนาที
สารฆ่าเชื้อทางชีวภาพอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น เบนซาลโคเนียมคลอไรด์ 0.05-0.2% หรือคลอร์เฮกซิดีนกลูโคเรต 0.02% นั้น ทางทีมงานทดสอบแล้วพบว่ามีประสิทธิภาพในการฆ่าไวรัสโคโรนาไม่ดีนัก ความเร็วในการกำจัดเชื้อน้อยกว่าสารฆ่าเชื้อ 3 ชนิดแรก
ความรู้จากผลการวิจัยนี้ทำให้เราต้องกลับมาเพิ่มความระมัดระวังในการสัมผัสสิ่งของต่างๆ ทั้งในกรณีที่เป็นผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลหรือประชาชนทั่วไปที่ในชีวิตประจำวันจะต้องใช้มือหยิบจับวัตถุสิ่งของตามที่สาธารณะต่างๆ เช่น ธนบัตร ปุ่มลิฟต์ ราวจับบนรถเมล์รถไฟฟ้า ราวบันไดสะพานลอย ฯลฯ ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนไวรัสต่างๆ อยู่ก่อนแล้ว เมื่อเราสัมผัสวัตถุเหล่านั้นแล้วเผลอนำปลายนิ้วมาแตะขอบตา สัมผัสใกล้รูจมูก หรือแม้แต่มุมปาก ก็อาจทำให้ไวรัสต่างๆ ที่ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นสายพันธุ์ไหนเข้าสู่ร่างกายได้
เราจึงควรหมั่นล้างมือให้ถูกวิธีอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือก็ต้องระวังว่าจะเป็นตัวกลางในการสะสมเชื้อ ทางด้านเจ้าของอาคารสถานที่หรือผู้รับผิดชอบรถโดยสารสาธารณะต่างๆ ก็อาจใช้สารฆ่าเชื้อตามชนิดและความเข้มที่แนะนำในบทความนี้ คอยเช็ดถูปุ่มกดลิฟต์และส่วนสัมผัสต่างๆ เช่น มือจับประตู ราว เสา หรือห่วงสำหรับผู้โดยสารบนรถ เพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัสลง
**ระยะฟักตัวของไวรัสที่ก่อให้เกิดโรค Covid-19 นี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันและมีงานวิจัยแย้งออกมาเป็นระยะ เช่น บางงานวิจัยระบุว่าระยะฟักตัวอาจนานถึง 24 วัน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง : https://www.journalofhospitalinfection.com/article/S0195-6701(20)30046-3/fulltext
TAGS : เชื้อไวรัสโคโรนา