สำหรับตัวเลขความสูงของแก้มยาง ก็จะมีการระบุไว้ที่เดียวกับขนาดหน้ายาง หรือถ้าระบุให้ชัดขึ้นอีกนิดก็คือ มันจะเป็นเลขหลักสิบที่อยู่ด้านหลังสัญลักษณ์ “/” อีกที่หนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น 190/ “55” -17 ที่เป็นยางแก้มสูง หรือ 190/ “50” -17 ที่เป็นยางแก้มเตี้ย เป็นต้น
ซึ่งเลขตรงนี้ไม่ได้มีหน่วยเป็น มิลลิเมตร เหมือนเลขหลักร้อยด้านหน้าที่หมายถึงความกว้างของหน้ายาง แต่มันคือเลขเปอร์เซ็นความสูงของแก้มยาง ที่เราต้องเอาเลขความกว้างของหน้ายางมาตั้งคำนวนก่อน ถึงจะได้เลขความสูงของแก้มยาง ที่แท้จริงในหน่วยมิลลิเมตร
(ถ้าจะเปรียบเป็นการวัดด้วยไม้บรรทัด ก็คือการวัดจากขอบยางด้านในถึงจุดนอกสุดของหน้ายาง เป็นแนวเส้นตรงนะครับ ไม่ใช่วาดตามแนวยางไป)
กล่าวคือ หากยางที่เราดูอยู่ ถูกระบุเลขไซส์ไว้ว่า 190/50-17 ความสูงของแก้มยางเส้นนี้ ก็จะอยู่ที่ 50 เปอร์เซ็น ของ 190 มิลลิเมตร หรือก็คือ 95 มิลลิเมตร ขณะที่หากยางอีกเส้นถูกระบุเลขไซส์ไว้ว่า 190/55-17 ความสูงของแก้มยางเส้นนี้ ก็จะอยู่ที่ 55 เปอร์เซ็น ของ 190 มิลลิเมตร 104.5 มิลลิเมตร
ดังนั้นเราจึงเห็นได้ว่าแม้ยาง 2 เส้นนี้จะมีหน้ากว้างที่เท่ากัน แต่หากพูดถึงความสูงของแก้มยางแล้ว มันกลับห่างกันถึงเกือบ 1 เซนติเมตรเลยทีเดียว
ส่วนข้อดีของยางแก้มสูงก็คือ การที่มันจะสามารถช่วยในการซับแรงกระแทกจากผิวถนนก่อนถึงล้อได้ดี เพราะมีพื้นที่ของแก้มยางให้ยุบตัวได้มากกว่ายางแก้มเตี้ย ขณะเดียวกันมันก็จะให้ความรู้สึกที่พลิกเลี้ยวง่ายกว่าเนื่องจากหน้ายางจะมีความรีมากกว่ายางแก้มเตี้ย
และด้วยเหตุนี้จึงทำให้มันมีพื้นที่ของหน้ายางเวลารถเอียงเยอะๆมากกว่ายางแก้มเตี้ยด้วยเช่นกัน (เฉพาะกรณีที่ใส่ยางหน้ากว้างตรงกับขอบล้อนะครับ ไม่ใช่การใส่ยางโอเวอร์ไซส์)
ด้านฝั่งยางแก้มเตี้ยเอง ก็จะให้ข้อดีในเรื่องของความนิ่งของยางเวลาขี่ด้วยความเร็วสูง เนื่องจากมีหน้ายางตรงกลางสัมผัสกับผิิวถนนมากกว่า และด้วยความที่แก้มยางไม่สูงมากนัก จึงทำให้อาการยางโคลงเวลาเจอแรงเหวี่ยงเยอะๆตอนทิ้งโค้งแรงๆนั้น เกิดขึ้นน้อยกว่ายางแก้มสูง ช่วยให้ความรู้สึกที่มั่นใจมากกว่าเวลาทิ้งโค้ง
(แม้ว่าจะมีหน้ายางสัมผัสพื้นถนนน้อยกว่าตอนรถเอียงเยอะๆอยู่เล็กน้อยก็ตาม) แต่ก็ต้องแลกมาซึ่งความพะวงเวลาตกหลุ่มร่องเป็นพิเศษเนื่องจากโอกาสที่ขอบล้อจะได้รับความเสียหายมีมากกว่ายางแก้มสูงพอสมควรแทน และอีกอย่างก็คือ ยางแก้มเตี้ยมักมีราคาแพงกว่ายางแก้มสูง